ฆราวาสธรรม เพื่อการเจริญสติ

"พวกที่กิเลสแรง แนะนำให้ไปดูกิเลสตัวเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ หัดดูของเราไป เราหัดดูกิเลสเล็กๆ ได้ จิตจะมีกำลัง เวลามันแรงขึ้น มันจะไม่แรงเท่าเดิม ไม่ทันแรง เราก็รู้ทันได้ไวขึ้น สมมติว่ามีราคะแรงๆ ก็หัดดูราคะตัวเล็กๆ ใครที่มีโทสะแรงๆ หัดดูโทสะตัวเล็กๆ ของเรา ที่มีอยู่ประจำต่อเนื่อง เรื่อยๆ หัดดูไป ต่อไปใจเราก็จะรู้ทันได้ไวขึ้น" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สเรียนรู้ตัวเองขั้นพื้นฐาน ๑๑ มกราคม ๒๕๖๓

Direct download: orn630111.mp3
Category:Khun Mae Oranuch -- posted at: 6:00am +07

"บางคนจะให้ไปดูจิตที่ไหล ดูยาก นานๆ จะเห็นที พอเราเจตนาไปดูก็เป็นบังคับ มันดูไม่ได้ตลอดเวลา ไม่เห็นจิตไหลไม่เป็นไร แต่พอไหลแล้ว ใจเป็นอย่างไร เราคอยรู้ทัน ยังใช้ได้ สมมุติว่าใจไหลไปแล้ว ใจคิดเรื่องดี เรื่องไม่ดี ใจยินดีหรือยินร้าย หรือใจไม่เป็นกลาง รู้ทันตรงนั้นก็ยังได้ หรือว่าไหลไปแล้ว ใจมีกิเลส มีโลภ มีโกรธ มีหลงอะไร เราคอยรู้ทัน อย่างนี้ก็ยังใช้ได้ ไม่ต้องดูได้ละเอียดลึกซึ้ง สภาวะหยาบหรือละเอียดมีค่าเท่ากัน แต่ให้เรามีสติรู้ทัน นั่นใช้ได้" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ คอร์สเรียนรู้ตัวเองขั้นพื้นฐาน ๑๐ มกราคม ๒๕๖๓

Direct download: sci630110.mp3
Category:general -- posted at: 6:00am +07

"การภาวนาต้องสบายๆ เป็นอย่างที่เคยเป็น เป็นคนร่าเริงก็ร่าเริงได้ แต่ให้รู้สึกตัว แต่คำว่ารู้สึกตัว มีสติ มันคอยบังคับให้เราควบคุมอยู่เรื่อยๆ ไม่ต้องรู้สึกตัวตลอดเวลา มันเป็นไปไม่ได้ รู้เท่าที่รู้ได้ ค่อยๆ ฝึกไป ถ้ารู้สึกตลอดเวลาให้รู้เลยว่าเพ่งแล้ว ผิดปกติ ผิดธรรมดา ผิดธรรมชาติ เพราะธรรมชาติเราต้องหลง หลงมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ หลงมาตั้งแต่เล็กจนโต จนป่านนี้ อยู่ๆ จะให้ไม่หลง มันเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าอย่าหลงนาน ให้หลงบ่อยๆ เพราะว่าตอนที่รู้ว่าหลงนั้นคือ รู้สึกตัว" --อ.นิติยา เพ็ชรไพบูลย์ คอร์สเรียนรู้ตัวเองขั้นพื้นฐาน ๙ มกราคม ๒๕๖๓

Direct download: nit630109.mp3
Category:general -- posted at: 6:00am +07

"สิ่งต่างๆ เวลาที่เราภาวนาไป ทุกครั้งที่เราภาวนาแล้วมันไม่ใช่หรือมันผิด อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเดินผ่าน ถ้าทำอย่างนี้มันก็ผิด ทำอย่างนี้มันก็ผิด วันหนึ่งมันถึงรู้ว่าที่ผิดมาเพราะอะไร แล้วมันจะถูกเอง อย่าคิดว่า อันนี้ก็ผิดอีกแล้ว อันนี้ก็ผิดอีกแล้ว เพราะข้อเท็จจริงการภาวนา สิ่งที่ถูกทำขึ้นมาไม่ได้ เรามีแต่เรียนรู้เหตุ ทำอย่างนี้เผลอไป ทำอย่างนี้ฟุ้งไป อย่างนี้เพ่งไป มันจะมีอย่างนี้สองสภาวะ สามสภาวะ แต่ทั้งหมดที่เราจะเรียนรู้ เราไม่ได้เอาตัวที่ไม่ฟุ้ง เราไม่ได้เอาสงบ เราต้องเอาไม่เพ่ง ไม่ใช่ สิ่งที่เราจะเรียนรู้ทั้งหมดว่า ไม่ว่าสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ นี่คือเส้นทางที่พระโสดาบันเห็น" --คุณมาลี ปาละวงค์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๒

Direct download: mle621222.mp3
Category:Malee -- posted at: 6:00am +07

"ผู้เรียน : กราบพระให้ดูร่างกายเคลื่อนไหวใช่ไหมครับ คุณหมอณัฐ : ใช่ แต่ว่าให้ย้อนดูใจด้วยว่า ตรงที่กราบเนี่ยมีการสำรวมหรือรวบใจไว้ รู้กาย แล้วก็รู้ใจด้วย ถ้าไม่เห็นการรวบ ก็จะติดรวบ ถ้าเห็นสิ่งใด ก็ไม่ติดสิ่งนั้น" --ทันตแพทย์ณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สจีนครั้งที่๑๒ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๒

Direct download: nat621228B.mp3
Category:Nat -- posted at: 6:00am +07

"การดูลมหายใจ หรือ ทำกรรมฐานอะไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องการคือ ความรู้สึก ความรู้สึก เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ความรู้สึก จะนำไปหาความรู้สึกตัว ความรู้สึก กับความสงบ เป็นคนละตัว ในความสงบอาจจะไม่มีความรู้สึก แต่ในความรู้สึก มีความสงบหล่อเลี้ยงอยู่ ความสงบที่มีความรู้สึก จะนำเข้าหาสิ่งที่เรียกว่า สมาธิ ในความรู้สึกพร้อมความสงบ ที่เรียกว่าสมาธิ เพราะมีความ รู้ ตื่น เบิกบานอยู่ มีภาวะ รู้ ตื่นตัว จิตไม่ขี้เกียจ พร้อมทำงาน อ่อนโยน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ไม่ใช่การ ควบคุม บังคับ" --ทันตแพทย์ณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สจีนครั้งที่๑๒ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๒

Direct download: nat621228A.mp3
Category:Nat -- posted at: 6:00am +07

"ผลที่เรานั่งสมาธิ เราลองไปสังเกต ใจตัวเอง ถ้านั่งแล้วใจมันซึม มันเคลิ้ม แสดงว่าสติอ่อนไป หรือว่า นั่งแล้วมันเคร่งเครียด ก็แสดงว่าเพ่งมากไป ถ้าเพ่งมากไป ก็โยนกรรมฐานเก่าทิ้งไป แล้วทำสบายๆ หรือทำไปแล้วมันฟุ้งๆ ก็แสดงว่า พื้นฐานเราใจมันฟุ้งซ่านง่าย ก็แค่รู้ว่าใจมันฟุ้ง แล้วเราก็ทำ จะพุทโธ หรือ หายใจไป เราก็ทำไปเหมือนเดิม แค่รู้ทันใจเรา" --พระอาจารย์สมชาย คอร์สจีน#๑๒ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๒

Direct download: sci621226.mp3
Category:general -- posted at: 6:00am +07

"เราหัดรู้ทันไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะเห็นไตรลักษณ์ของความปรุงแต่งทุกตัว เป้าหมายหลักของเราก็คือ เห็นความปรุงแต่ง เห็นขันธ์ ๕ แต่ละตัวเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เห็นมันเป็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ คือเห็นทุกตัว มาแล้วไปๆ" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สจีน#๑๒ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๒

Direct download: orn621224.mp3
Category:Khun Mae Oranuch -- posted at: 6:00am +07

"ถ้าเราภาวนาแล้วไม่เอาการปฏิบัติมาหลอมรวมกันในชีวิตจริงๆ โอกาสที่จะเข้าใจธรรมะยากมาก ถ้าภาวนาทั้งวันแล้วกลายเป็นว่าเราทำสมาธิทั้งวัน นั่งก็นั่งเพ่ง เดินก็เดินเพ่ง แล้วทำอยู่นานๆ เข้า ผลสุดท้ายกลายเป็นเพ่งจนชำนาญ แต่เวลาใช้ชีวิตจริงๆ มีสภาวะให้ดูทั้งวัน กระทบผัสสะเยอะมาก แล้วร่างกายเป็นอย่างไร จิตใจเป็นอย่างไรแล้ว มันจะเห็นง่ายกว่า มาฝึกสติในชีวิตจริงๆ ให้ได้ จะพัฒนาได้เร็ว" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ คอร์สจีน ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๒

Direct download: sci621223.mp3
Category:general -- posted at: 6:00am +07

"คนส่วนใหญ่เริ่มปฏิบัติแล้วพลาด เพราะจะไปดูจิตโดยตรง มันไม่เห็นเพราะเรายังไม่ได้ซ้อมการมีสติที่ถูกต้อง จะไปดูจิตโดยตรงมันจะไม่เห็น สิ่งที่เห็นคือคิดเอา ดูไม่ถึงจิต แต่ถ้าเราฝึกสติเรื่อยๆ จิตจะไปเริ่มรู้สภาวะเองโดยที่เราไม่ได้สั่ง จิตทำเอง จิตเรียนรู้สภาวะเอง ตามรู้จิตเปลี่ยนแปลงเอง แต่จะทำถึงขั้นนี้ได้ต้องมีกำลังเพียงพอ เราต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ มีงานเยอะหรืองานน้อยก็ทำ เราไม่ทิ้งการปฏิบัติ แล้วผลของธรรมะก็ไม่ทิ้งเราไปเหมือนกัน" --คุณณพัทธ์พล คุณาธนะเศรษฐ์ คอร์ส ก.ล.ต. ๖ ธันวาคม ๒๕๖๒

Direct download: nks621206.mp3
Category:general -- posted at: 6:00am +07

"พาใจมาเห็นความจริง เห็นกายทำงาน เห็นใจทำงาน รู้สึกด้วยใจไปเรื่อยๆ เห็นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เห็นความไม่เที่ยง ความทนอยู่คงที่ไม่ได้ การที่เห็นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ มันจะเริ่มพบเลยว่า ในกายใจของเรานี้ มันหาอะไรที่เที่ยงแท้ถาวรไม่ได้ เอาเป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ จิตนี้จะค่อยๆ คลายความยึดถือลง คลายความผูกพันลง ถ้าเราคลายความยึดถือลง คลายความผูกพันลงได้เมื่อไหร่ ทั้งหมด ถึงวันหนึ่ง เราก็จะพ้นทุกข์ได้" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์ส ก.ล.ต. ๖ ธันวาคม ๒๕๖๒

Direct download: orn621206.mp3
Category:Khun Mae Oranuch -- posted at: 6:00am +07

"ยิ่งเห็นสภาวะได้มาก นั่นคือ เรามีสมาธิมาก ที่หลวงพ่อบอก เป็นฆราวาสที่มีคุณภาพ มีจิตตั้งมั่นมากๆ ต่อไปก็จะเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจเราได้มากๆ เห็นตัวหลงเกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่ต้องไปห่วงเรื่องปัญญา มันตามมา เพราะเกิดตัวรู้ตัวนี้ เกิดตัวรู้ จิตตั้งมั่นขึ้นมา จะเห็นสิ่งที่ถูกเห็น เป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู สิ่งที่ถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา" --คุณณพัทธ์พล คุณาธนะเศรษฐ์ คอร์ส ก.ล.ต. ๕ ธันวาคม ๒๕๖๒

Direct download: nks621205.mp3
Category:general -- posted at: 6:00am +07

"สิ่งที่เรียนรู้ในเส้นทางของการปฏิบัติ คือ ศึกษาเรื่องศีล ศึกษาเรื่องจิต ศึกษาเรื่องปัญญา ศีล คือ พื้นฐาน เปรียบเหมือนแผ่นดิน ถ้าฐานไม่หนักแน่น สร้างสิ่งใดบนแผ่นดินนั้นก็ล้ม ศีล คือ การมีเจตนางดเว้นที่จะไม่ทำกรรมชั่วหยาบ... รู้ทันจิต คืออะไร ขณะที่นั่งอยู่ รู้สึกถึงการมีอยู่ของร่างกาย รู้สึกว่าร่างกายนี้นั่งอยู่ มันมีตัวนึงรู้สึก นั่นแหละคือจิต... จิตที่ตั้งมั่นต้องประกอบด้วยจิตที่โปร่ง โล่ง เบา ปราดเปรียว คล่องแคล่วว่องไว ซื่อตรงต่อการรู้อารมณ์ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง จิตแบบที่เรียกว่าสัมมาสมาธิ ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเจริญปัญญา เพราะขณะที่ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ดู เป็นจิตที่เป็นสัมมา เห็นทุกสภาวะที่มันผ่านมาผ่านไป คงอยู่ไม่ได้ ไม่เที่ยง ต้องสลาย ต้องเสื่อมไป มันเป็นของมันเอง บังคับบัญชาไม่ได้ นี่แหละเจริญปัญญา" --คุณนิติยา เพ็ชรไพบูลย์ คอร์ส ก.ล.ต. ๕ ธันวาคม ๒๕๖๒

Direct download: nit621205.mp3
Category:general -- posted at: 6:00am +07

"เวลาที่เราภาวนาดีๆ เรามักจะพยายามรักษาให้มันดีต่อไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่าจิตที่ภาวนาดีแล้วจะหลุดพ้น ต้องเรียนรู้นานเลย กว่าจิตจะยอมว่ามันไม่ถูก อย่างเราภาวนาดีแล้ว เราไปอยู่กับโลกแล้วจิตเสื่อม เราก็ไปโทษว่าการไปทำงาน การออกไปข้างนอกทำให้จิตเสื่อม แต่จริงๆ แล้ว ถึงไม่ไปทำงาน ไม่ออกไปข้างนอก จิตก็เสื่อม เพราะโดยธรรมชาติ จิตเจริญแล้วเสื่อม กว่าจะเรียนรู้ว่าจิตเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่ได้เป็นไปตามเราอยาก เราฝึกกันนาน กว่าจะช่างมันว่าจิตมันจะดีก็ดี จิตมันจะเสื่อมก็เรื่องของมัน ใจถึงจะเป็นกลาง ใจไม่ดิ้นรน" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ คอร์ส ก.ล.ต. ๕ ธันวาคม ๒๕๖๒

Direct download: sci621205.mp3
Category:general -- posted at: 6:00am +07

1