Sat, 15 April 2023
"ภาวนาไปจิตจะค่อยๆ เข้าใจ มันต้องใช้เวลาเรียนรู้ อย่าคิดว่านานเท่าไร ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติก็ได้นะ มันต้องสะสม แต่วันนี้มันเป็นก้าวแรกที่เราเริ่มต้น เมื่อมีก้าวแรก ก้าวที่ร้อยมันก็ถึง แต่เส้นทางนี้ เราไม่รู้ว่าก้าวที่เท่าไร มีแต่ว่าเราทำสะสมไปด้วยความอดทน 'อดทน' เป็นธรรมะที่ดีทั้งทางโลกและทางธรรม" --คุณมาลี ปาละวงศ์ บ้านจิตสบาย 19 กุมภาพันธ์ 2566 |
Thu, 13 April 2023
"จุดแรกของการนั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมก็ตาม คุณต้องรู้ตัวก่อน รู้ตัวจริงๆ วันนี้ เราจะฝึกรู้ตัวนะ ฝึกรู้ตัวจริงๆ เอ้า! ตัวนี้นั่งอยู่ จะเดิน อยู่หัวจงกรม รู้ก่อนว่า ตอนนี้ยืนอยู่ เอาตั้งแต่จุด Start" --คุณมาลี ปาละวงศ์ บ้านจิตสบาย 11 กุมภาพันธ์ 2566 |
Tue, 11 April 2023
"'อย่าลืมความสุข' พวกเราเวลาลงมือปฏิบัติจะลืมคำนี้ไป เราจะจริงจังกันมาก เพราะมีคำว่าต้องดี คำว่าต้องดีมันหลอกเรามากเลย เราไม่ต้องดี แต่ต้องไม่ชั่วเท่านั้นเอง จับหลักที่หลวงพ่อสอน มีสติรู้ตามความเป็นจริง ความเป็นจริงจะเป็นอะไรก็ได้ จะโมโห จะหงุดหงิด แต่ไม่ล้นออกไปเท่านั้นเอง" --คุณมาลี ปาละวงศ์ บ้านจิตสบาย 28 มกราคม 2566 |
Sun, 9 April 2023
"กรรมฐานเป็นเรื่องง่าย แต่พวกเราคิดเยอะ ทิฐิเยอะ เวลาเราจะภาวนา ก็ภาวนานิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ไปคิดเอา ภาวนาอย่างไรจะถูก หาวิธีทำไปเรื่อยๆ มันไม่มีวันถูกหรอก แต่ถ้าเราจับหลักการภาวนาได้ เราค่อยๆ ทำไป พวกเราแต่ละคนมีอินทรีย์บารมีไม่เท่ากัน บางคนฝึกสติแป๊บเดียว มีสติมีสมาธิแล้ว ฝึกเดินปัญญาได้ บางคนฝึกสติตั้งนานหลายปี ถึงจะเกิด ตัวนี้อยู่ที่พื้นฐานของเราเอง ต้องค่อยๆสะสมเอา" --พระอาจารย์สมชาย (อ๊า) กิตฺติญาโณ บ้านจิตสบาย 8 มกราคม 2566 |
Fri, 7 April 2023
"สภาวะต่างๆ ทางกายหรือทางใจ ใช้ความรู้สึกไปรับรู้ การดูใจ ดูอาการทางกาย ดูอารมณ์ต่างๆ ดูสิ่งที่ถูกรู้ ใช้ความรู้สึกไปรับรู้ ไม่ต้องไปเพ่ง แค่รู้สึก ก็รู้เรียบร้อยแล้ว รู้ชัดหรือรู้ไม่ชัด ก็คือเห็นเท่ากัน ใจที่ไปรู้แทบไม่ต้องมีภาระ แค่รู้สึก แค่หัดรู้สึก ต้องหัดรู้สึก เราต้องการความรู้สึกที่ไร้เจตนา" --ทันตแพทย์ณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ บ้านจิตสบาย 4 กุมภาพันธ์ 2566 |
Wed, 5 April 2023
"เวลาอารมณ์มากระทบ จิตต้องหวั่นไหว แล้วก็มีสติรู้เอา อันนี้ถึงเป็นจิตรู้สึกตัวที่ถูกต้อง ถ้าอารมณ์กระทบมาแล้วนิ่ง ก็จะไม่มีทางพัฒนา เพราะอาการเพ่งหรือนิ่ง ไปปิดกั้นอายตนะทางใจ ความปรุงแต่งเป็นกำแพงมาบล๊อกไว้ ความรู้ความเห็นอะไรก็เข้าไม่ถึง ชนกำแพง ความเป็นไตรลักษณ์ก็เข้าไม่ถึงจิต" --ทันตแพทย์ณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ บ้านจิตสบาย 7 มกราคม 2566 |
Mon, 3 April 2023
"รูปแบบนี่จำเป็นและสำคัญ เพราะมันเป็นการฝึกจิต ตรงนั้น ซึ่งเราเรียกว่า จิตตสิกขา ในทุกๆ วันที่เราทำ ไม่ว่าจะครึ่งชั่วโมง หรือ 15 นาทีก็ตาม ที่เราลงมือทำรูปแบบจริงจัง เป็นการเอาจิตมาเรียนรู้ความเป็นจริงของกายกับใจ" --คุณมาลี ปาละวงศ์ สนทนาธรรม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 15 มกราคม 66 |
Sun, 26 February 2023
"ทุกๆ วันก่อนที่เราจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ |
Sat, 11 February 2023
"เวลาที่เราลงมือปฏิบัติ เราทำผลไม่ได้ เราทำความตั้งมั่นไม่ได้ แต่เราต้องรู้ว่าเหตุอะไรที่ทำให้จิตตั้งมั่น ก็คือต้องทำสมาธิที่มีความสุขความสบาย สมาธิที่ประกอบด้วยความตั้งมั่นถึงเกิด เราต้องทำเหตุ เหมือนที่เราอยากมีสติ อยากฝึกสติ เราต้องทำให้จิตจำสภาวะได้ โมโห หงุดหงิด ดีใจ เสียใจ เรารู้ไป เรารู้บ่อยๆ จิตถึงจำสภาวะได้ เราต้องทำเหตุ เราต้องสร้างเหตุ" --คุณมาลี ปาละวงศ์ บ้านจิตสบาย 18 ธันวาคม 2565 |
Thu, 9 February 2023
"วันนี้หลวงพ่อเน้นศีล ศีลก็จะเป็นตัวช่วยเราได้ ค่อนข้างมาก จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาการดูใจดูกายในแต่ละวัน จนกระทั้งเกิดสติอัตโนมัติ ศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ จากนั้นต้องปล่อยให้จิตเค้าทำงานของเค้าไป แต่หน้าที่เราทำตามรูปแบบทุกวัน จนวันหนึ่งเราจะเห็นเลย ว่าความทุกข์มันก็ไม่เที่ยง ความสุขที่เรารู้สึกอินเยอะๆ ก็ไม่เที่ยง มันก็ไปเหมือนกัน สิ่งอะไรที่มันเกิด มันก็ดับ แล้วมันก็ดับด้วยที่เราเห็นด้วยตัวเราเอง วันหนึ่งจิตใจตัวนี้มันเข้าใจ แล้วมันพอ จะรู้ว่ากายนี้ไม่ใช่เรา ใจนี้ไม่ใช่เรา เราบังคับมันไม่ได้ นี้คือเส้นทางที่พระโสดาบันท่านเห็น" --คุณมาลี ปาละวงศ์ บ้านจิตสบาย 21 สิงหาคม 2565 |
Tue, 7 February 2023
"นั่งให้สบายก่อน ยังไม่ต้องทำอะไร นั่งสบาย ดูอะไรก็แล้วแต่ ทำความรู้สึกสบาย เสร็จแล้ว หายใจออกไปนิดนึง แล้วก็เห็นร่างกายนี้ หายใจเข้า หายใจออก ถ้าเราทำจนชิน ร่างกาย กับการหายใจ เป็นของที่มันเกิดตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราเห็นบ่อยๆ ยกเว้นว่าเราไม่ดู แต่ถ้าเมื่อไหร่เราดู เราก็จะเห็นหายใจอยู่ดี นั่นแหละ ตรงนี้ คือจุดพักของเราได้ ก็จะเป็นวิหารธรรมไปโดยอัตโนมัติได้ เมื่อย้อนมาที่ร่างกายแล้ว มันก็จะทำให้จิตมีกำลังมากขึ้น" --คุณมาลี ปาละวงศ์ บ้านจิตสบาย 20 พฤศจิกายน 2565 |
Sun, 5 February 2023
"เราอยากพ้นทุกข์ ถ้าเราคิดว่าเราอยากได้ธรรมะเบื้องต้น การเจริญทั้งทางโลก และทางธรรม ทำได้นะ เราเป็นฆราวาส เราทำได้หมด แต่เราต้องเข้าใจก่อน ถ้าคิดว่าเป้าหมายในชีวิตเรา คือการพ้นทุกข์ งานหลักของเรา คือ ภาวนา งานที่อยู่กับโลก ทำแค่พออยู่พอกิน เลี้ยงครอบครัวได้ ตามความรับผิดชอบ เลี้ยงคุณพ่อคุณแม่ได้ อันนั้นคือหน้าที่ แต่งานหลักเรา คือภาวนา ภาวนาเพื่ออะไร เรามีเป้าหมายเพื่อพ้นทุกข์" --คุณมาลี ปาละวงศ์ บ้านจิตสบาย 18 กันยายน 2565 |
Fri, 3 February 2023
"ถ้าปัจจุบันจะนั่งทำฌาน ก็เหมือนที่หลวงพ่อพุธท่านว่า ชาตินี้เลยไม่ต้องเจริญปัญญา สุดท้ายชีวิตนี้ก็ขาดทุน เพราะถ้าจะเข้าฌานก็เข้าไม่ได้ เข้าแบบเพ่งๆ ก็ไม่ได้สมถะจริง ทั้งชีวิตก็ติดอยู่แค่นั้น จิตก็เคร่งเครียด สุดท้ายก็ได้จิตที่เป็นอกุศล ทำฌานไม่เหมาะ ไม่เหมาะกับยุคสมัยด้วย วิธีที่เหมาะกับปัจจุบัน วิธีที่ใช้การเจริญสตินำ สติสำคัญที่สุด สายวิปัสสนายานิกจะเจริญสตินำ แล้วสมาธิจะตามมาเอง เมื่อสติถูก ความรู้สึกตัวถูก อารมณ์มันต่อเนื่องก็เกิดสมาธิ แล้วความสุขก็มา แต่สุขไม่ถึงฌาน แต่พอที่จะเจริญปัญญา แล้วพอที่จะคลายความทุกข์ เจริญวิปัสสนาได้" --คุณหมอณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สการเจริญสติในชีวิตประจำวัน 27 พฤศจิกายน 2565 |
Wed, 1 February 2023
|
Mon, 30 January 2023
"ลดความจงใจ มันก็จะไม่เหนื่อย มันไปตั้งใจมากไป มันจะแข็งไปนิดนึง จ้องยังกับอะไรล่ะ เหมือนยืนอยู่บนเส้นลวด กลัวตกอะไรอย่างนี้ ไต่ลวดน่ะ เหมือนกายกรรม มันไม่ต้องขนาดนั้น ท่องไม่ต้องถี่ยิบก็ได้ ท่องสบายๆ ลดความจงใจ ลดการเพ่งลง จ้องจุดเดียว มองจุดเดียว อันนี้แหละเหนื่อยแน่นอน ลองห่างๆ ท่องสบายๆ เหมือนถ้าใช้ความคิด ก็ไม่ต้องนึกดัง นึกเบาๆหน่อย" --คุณหมอณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สการเจริญสติในชีวิตประจำวัน 25 พฤศจิกายน 2565 |
Sat, 28 January 2023
"ควรจะทำยังต่อไป จับหลักให้ถูก แล้วก็ทำ มีแค่นั้น ไม่มีอะไรมากกว่านั้นเลยนะ การภาวนา ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่มีอะไรยุ่งยาก ทุกคน ตั้งแต่ภาวนาใหม่ๆ จนภาวนานานแล้ว ก็ทำแบบเดียวกันหมดเลย ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยนะ กระบวนท่าทำเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่ที่เปลี่ยนคือ ความรู้ความเข้าใจ ประสบการณ์" --คุณหมอณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สการเจริญสติในชีวิตประจำวัน 25 พฤศจิกายน 2565 |
Thu, 26 January 2023
"ทำเรื่องจิตให้มันถูกก่อน ทำเรื่องจิตให้ถูกเนี่ยท่านใช้คำว่า จิตตสิกขา เรียนรู้เรื่องจิตเพื่ออะไร? ยังไงก็ต้องมีสมาธิ มากน้อยก็อย่างที่พระอาจารย์ท่านสอน แล้วแต่จริต แต่ยังไงก็ต้องมีสมาธิ สมาธิ หรือจะว่าเป็น ความรู้สึกตัวก็ได้ หรือจิตผู้รู้ ถ้าเกิดสมาธิมันมาก มันก็จะมีจิตผู้รู้ขึ้นมา อะไรก็ได้ ต้องให้มีสักอันหนึ่งก่อน ถ้าไม่มี มันก็จะดูยากมากเลยนะ มันไม่มีสมาธิเนี่ย จะดูอารมณ์อะไร ก็ดูไม่ไหว ถึงมีบางครั้งยังดูไม่ไหวเลย ถ้าอารมณ์ที่มากระทบแรง มันก็ดูไม่ไหว ถ้าไม่มีเลย ดูไม่ได้ มันจะยากมาก เหมือนคนแทบไม่ทำเลย แล้วจะมาตามดูอย่างนี้ จิตมันจะฟุ้ง มันจับไม่ไหว มันไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้น เบื้องต้นต้องทำจิตให้มันดีก่อน" --คุณหมอณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สการเจริญสติในชีวิตประจำวัน 24 พฤศจิกายน 2565 |
Tue, 24 January 2023
"คนกิเลสแรง เวลาภาวนาก็ยากลำบาก ต้องอดทน อย่างพระอาจารย์ บางทีภาวนาไปช่วงหนึ่ง โทสะแรง โทสะทั้งวัน ดูแทบไม่ทันเลย แต่อดทนดูไป วิธีแก้โทสะง่ายที่สุด คือ ปิดปากไว้ ปิดมือไว้ แค่นั้นแหละ ปิดปากก็คือ เวลามีโทสะ มันก็จะชอบพูดอะไรที่ไม่ดี ก็ต้องปิดปากไว้ และก็ไม้มือ ก็เก็บไว้ ผลสุดท้ายแล้วก็ดูเอา ดูไปอย่างนี้ สู้ไปเรื่อยๆ โทสะก็ค่อยๆ เบาบางลง พอโทสะเบาบาง เดี๋ยวราคะขึ้นมาอีก ราคะขึ้นมา ทำยังไง ก็ต้องดูอีก อดทน ทนไปอีก" --พระอาจารย์สมชาย (อ๊า) กิตฺติญาโณ คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่5 5 ตุลาคม 2565 |
Sun, 22 January 2023
"สมาธิที่ใช้เพื่อความพันทุกข์นี้ เป็นสมาธิที่ครูบาอาจารย์เรียกว่า สัมมาสมาธิ หรือว่า จิตตั้งมั่น มีจิตผู้รู้ สมาธิตัวนี้ เป็นสมาธิที่จะใช้ทำ วิปัสสนา ถ้าเรายังไม่มีสมาธิตัวนี้ ยังทำวิปัสสนาไม่ได้" --พระอาจารย์สมชาย (อ๊า) กิตฺติญาโณ คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่5 3 ตุลาคม 2565 |
Fri, 20 January 2023
"โลกเป็นอย่างที่เขาเป็น โลกไม่ได้เป็นอย่างที่เราอยากให้เขาเป็น เวลามีปัญหาเกิดขึ้น เราอยากให้ปัญหาหายไป ปัญหาไม่ได้หายไปเพราะว่าเราอยาก ปัญหาหายไปด้วยเหตุด้วยผล ด้วยเหตุปัจจัยของเขา ทุกครั้งที่เราเผชิญปัญหา เราเติบโตขึ้น ใจเราวางมากขึ้น เข้าใจแล้ววาง ต่อไปการกระเพื่อมหวั่นไหวทางโลก กระทบเข้ามาไม่ถึงใจเรา เพราะว่าเป็นการเติบโต เป็นความเข้าใจ ใจยอมรับความจริง ว่าโลกเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่ได้เป็นอย่างที่เราอยาก นี่เป็นผลของการปฏิบัติฯ" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่5 3 ตุลาคม 65 |
Wed, 18 January 2023
"เรารีบภาวนาของเราไปก่อน อย่าไปท้อแท้ใจอะไรเยอะ ท้อแท้ได้นิดหน่อยพองาม ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า ขยันก็ปฏิบัติ ขี้เกียจก็ปฏิบัติ ขยันก็ปฏิบัติมากหน่อย ขี้เกียจก็ต้องปฏิบัติ เพราะว่าความทุกข์มันรออยู่ข้างหน้า ถ้าเราไม่ปฏิบัติ อย่างไรก็ไม่พ้นทุกข์ ก็จมอยู่ในสังสารวัฏนี่แหละ เกิดตายๆ ไปเรื่อยๆ เราไม่รู้นะว่าจะมีครูบาอาจารย์มาสอนเราอีกเมื่อไร เราประมาทไม่ได้ ตอนนี้เรามีชีวิตอยู่ เรารีบขวนขวายภาวนาของเราไป" --พระอาจารย์สมชาย (อ๊า) กิตฺติญาโณ คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่5 1 ตุลาคม 2565 |
Mon, 16 January 2023
"เวลาวัดความก้าวหน้าในการภาวนา ให้เราวัดว่าเรายึดถือสิ่งต่างๆ ในโลกน้อยลงไหม เวลากิเลสเกิดขึ้น เรารู้ทันได้เร็วขึ้นไหม ใจเรามีความสุขมากขึ้นไหม เราไม่ได้วัดที่จิตดีจิตสงบ เพราะจิตดีจิตสงบเป็นผลของกำลังสมาธิ พอสมาธิเสื่อมลง มันก็จะฟุ้งซ่าน ซึ่งมันจะมีธรรมชาติเจริญแล้วเสื่อม เราวัดคุณภาพของจิตของเรา ว่าเราเข้าใจธรรมชาติของโลกมากขึ้นไหม" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สจีนออนไลน์ครั้งที่ 5 30 กันยายน 2565 |
Sat, 14 January 2023
"ถ้าเราอยากภาวนา อยากได้ของดี เราต้องตั้งใจ ถ้าเราไม่ตั้งใจ มันไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางหรอก ถ้าอยากได้ดี ของฟรีไม่มี ครูบาอาจารย์บอกว่ามันยากนะ แต่ถ้าเราฝึกสติถูก ฝึกให้สมาธิตั้งมั่นถูก และฝึกเดินปัญญาได้ มรรคผลนิพพานไม่ไกล" --พระอาจารย์สมชาย (อ๊า) กิตฺติญาโณ บ้านจิตสบาย 13 พฤศจิกายน 2565 |
Thu, 12 January 2023
"ถ้าเราหวังความพ้นทุกข์ในชีวิตนี้ จำเป็นมากที่พวกเราต้องมีใจที่อยากจะเรียนรู้กายใจของเรา ให้เราใส่ใจในกายในใจ ใส่ใจคือการสอนจิตให้มีความคุ้นเคยที่จะคอยมาเรียนรู้กายใจ ให้นึกถึงร่างกายจิตใจเป็นระยะๆ นึกถึงบ่อยๆ ถ้าเราไม่ใส่ใจ เราก็จะไม่มีวันเข้าใจ เรารักษาศีล ทำในรูปแบบทุกวัน แต่ระหว่างวันเราไม่ใส่ใจกายและใจเรา กำลังมันจะไม่พอที่จะภาวนาให้พ้นทุกข์" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร บ้านจิตสบาย 11 ธันวาคม 2565 |
Tue, 10 January 2023
"การภาวนาคือการสะสม สะสมไปทุกวันๆ จนกระทั่งวันหนึ่งมันพอ แต่ตอนที่เราสะสม เราก็สะสมไป เราไม่รู้หรอกว่าก้าวไหน ถ้าเรารู้ว่าก้าวที่หนึ่งล้านเราจะถึง อันนี้ไม่ยาก แต่มันยากตรงที่เราไม่รู้ว่าก้าวไหน เราต้องค่อยๆ พากเพียรสะสมไป เราไม่ภาวนาชาตินี้ชาติเดียว เราภาวนากันข้ามอสงไขย ข้ามสังสารวัฏ ตรงนี้อาศัยความอดทน" --คุณมาลี ปาละวงศ์ บ้านจิตสบาย 5 พฤศจิกายน 2565 |
Sun, 8 January 2023
"สุดท้ายแล้ว นักภาวนาต้องทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่านั่ง เดิน หรือนอนภาวนา เพราะเราไม่รู้เลยว่าจิตสุดท้ายเราจะไปตอนไหน แต่ถ้าเราไม่แน่ใจ เราก็ทำอย่างเดียวก่อน จนเราแน่ใจแล้วกับสมาธิตัวนี้ คือเรารู้หลักแล้ว จากที่เดินเราจะปรับเป็นนั่ง ที่นั่งแล้วจะปรับเป็นเดิน ก็สามารถทำได้" --คุณมาลี ปาละวงศ์ บ้านจิตสบาย 16 ตุลาคม 65 |
Fri, 6 January 2023
"ถ้าเราไม่ได้ทำรูปแบบทุกวัน โอกาสที่จิตจะตั้งมั่นนั้นยาก คือเราต้องสู้กับกิเลสให้ได้ การทำในรูปแบบให้ได้ทุกวันต่อเนื่อง เหมือนเราชนะกิเลสได้ทุกๆวัน เราฝืนกิเลส เราสู้กับกิเลสข้างในของเรา ในวันที่ทำ เราชนะ และเราก็ต้องชนะแบบนี้ทุกวัน ถ้าเราไม่ชนะ เราก็ต้องเป็นทาสมัน ถ้าวันไหนที่เราทำงานมาเหนื่อยมากจริงๆ อย่างน้อยต้องเดินไปกลับให้ได้สามรอบแล้วค่อยขึ้นเตียง ถ้าวันแรกเรายอม วันที่สองก็ตามมา วันต่อๆไปก็สู้มันไม่ได้" --คุณมาลี ปาละวงศ์ บ้านจิตสบาย 3 กันยายน 2565 |
Wed, 21 December 2022
"ถ้าจะให้จิตมีกำลัง ต้องมีคำบริกรรมด้วย ต้องมีกรรมฐานหนึ่งอย่าง คือแรงที่เป็นจากสมถะ มันเกิดจากการที่เราบริกรรมต่อเนื่องยาวขึ้น แต่เมื่อบริกรรมและสังเกตจิตไปด้วย มันจะไม่ติดเพ่ง มันจะได้สมถะที่ดี สมถะ แม้แต่จิตที่มีผู้รู้ ก็ถือว่าเป็นสมถะ เป็นสมถะที่ดี ที่เอามาเจริญปัญญาได้" --คุณหมอณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สการเจริญสติและสมาธิในชีวิตประจำวัน 13 สิงหาคม 65 |
Mon, 19 December 2022
"ทุกสภาวะเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ จิตที่หนีไปคิด ถ้ารู้ก็ได้แต้มหนึ่ง จิตที่เพ่ง รู้ก็ได้แต้มหนึ่ง ฉะนั้นไม่ต้องหงุดหงิด เพราะทุกอย่างคือการเรียนรู้ ไม่ต้องตั้ง(ธง)ที่ความสงบ ความสงบเกิดขึ้น ก็ไม่มุดลงไปในความสงบ เพราะมันก็เป็นสิ่งที่เรียนรู้ เหมือนเพ่งกับเผลอ จิตจะค่อยมีสติที่ถูกขึ้นมาเอง ถ้าจะเอาความสงบให้ได้ เพ่งแน่นอน เพราะทำด้วยความโลภ พอไม่สงบก็หงุดหงิด เพราะเกิดตัณหาตีกลับ ยิ่งหงุดหงิด ยิ่งโทสะขึ้นไปกันใหญ่เลย เพราะไปตั้งธงผิด" --คุณหมอณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สการเจริญสติและสมาธิในชีวิตประจำวัน 13 สิงหาคม 65 |
Sat, 17 December 2022
"เห็นไหมว่า อาการ เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง มันอยู่ที่ใจ อยู่ตรงรู้สึก รู้สึกมากๆ พัฒนาความรู้สึกขึ้นมา รู้สึกได้สมบูรณ์เมื่อไหร่ ก็จะเห็นจิตเมื่อนั้น เห็นรู้สึกตัวได้เมื่อไหร่ ก็ถือว่าเห็นจิต ถ้าเห็นจิตเมื่อไหร่ ภาวนาจริงๆ มันถึงจะมา นึกออกไหม เพราะฉะนั้น ต้องหาจิตให้เจอ" --คุณหมอณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สการเจริญสติและสมาธิในชีวิตประจำวัน 12 สิงหาคม 2565 |
Thu, 15 December 2022
"ถ้าวิหารธรรมอันไหนทำแล้วไม่สบาย ก็แสดงว่าไม่ใช่แล้ว เพราะมีความสบายถึงจะเกิดความสุข มีความสุขก็อยากจะอยู่กับกรรรมฐานแบบนี้ ความสุขก็ให้เกิดสมาธิ ก็ตามสเต็ป ถ้าอันไหนไม่สบายก็ไม่ใช่เครื่องพักของเราแล้ว มันจะเป็นวิหารธรรมได้อย่างไร" --คุณหมอณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สการเจริญสติและสมาธิในชีวิตประจำวัน 12 สิงหาคม 2565 |
Tue, 13 December 2022
"เวลาเราจะภาวนา ก็ให้เราเฝ้าสังเกตใจ ถ้าเราสังเกตใจของเราได้ เราก็จะภาวนาต่อไปได้ ถ้าเราคอยอ่านใจไปเรื่อยๆ จะอ่านได้เร็วขึ้น ถี่ขึ้น ต่อไปก็จะอ่านได้ตลอดเวลา" --พระอาจารย์สมชาย (อ๊า) กิตฺติญาโณ คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่4 16-21 มิถุนายน 2565 |
Sun, 11 December 2022
"เป้าหมายของการภาวนา เพื่อให้เห็นว่าความที่เป็นตัวเรา มันแยกออกมาได้หลายส่วน แต่ละส่วนล้วนเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ แต่ละส่วนล้วนบังคับไม่ได้ ไม่ใช่เรา เห็นมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไปเรื่อยๆ เห็นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ใจจะค่อยๆ รู้ความจริง ค่อยๆ เข้าใจว่ากายใจนี้ไม่มีอะไรที่เป็นสาระ ไม่มีอะไรที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้อย่างถาวร ทุกอย่างมาแล้วไป เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ใจจะได้ค่อยๆ วาง ค่อยๆ คลายความยึดถือในกายในใจนี้ลง ถ้าเราคลายความยึดถือในกายในใจนี้อย่างสิ้นเชิง วันนั้นก็เป็นวันที่เราพ้นทุกข์" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่4 19 มิถุนายน 2565 |
Fri, 9 December 2022
"เราต้องคอยปลุกใจตัวเองทุกวัน ให้มีความพากเพียร อดทนในการภาวนา แล้วก็มี จิตต เอาใจคอยสอดส่อง คอยคิดดูว่าที่เราทำอยู่นี้ ยังอยู่ในเส้นทางหรือเปล่า มีความฝักใฝ่ในการงานที่เราจะทำ ถ้าเราฝักใฝ่ในการงานที่เราทำบ่อยๆ ทำงานตัวนี้ที่ต่อเนื่องก็มีสมาธิขึ้นมา ได้สมาธิที่ถูกด้วย เพราะว่าเราคิดพิจารณาของเรา แล้วเราก็ใคร่ครวญดู ตัวสุดท้าย วิมังสา ใคร่ครวญดู ว่างานที่เราทำอยู่ อยู่ในเส้นทางไหม หรือออกนอกเส้นทางแล้ว ถ้าเราทำตัวนี้บ่อยๆ ยังไงเราก็เดินถึงเส้นชัยแน่นอน" --พระอาจารย์สมชาย (อ๊า) กิตฺติญาโณ คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่4 16-21 มิถุนายน 2565 |
Wed, 7 December 2022
"จิตหลงใหม่เรารู้ใหม่ ฝึกอย่างนี้ซ้ำๆๆ เลยนะ สติเราจะไวขึ้น แล้วขณะที่เกิดสติ มันจะมีขนิกสมาธิ ที่เกิดขึ้นทีละขณะๆ เกิดบ่อยๆ จะสะสมเป็นกำลังของจิต เป็นใจที่มีสมาธิ เป็นใจที่ตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เกิดขึ้น ฉะนั้น ในรูปแบบ ฝึกได้ตั้งแต่ให้เกิดสติ ฝึกได้ตั้งแต่ให้ใจตั้งมั่น สติกับใจที่ตั้งมั่น จะเกิดคู่กัน ขึ้นมาเรี่อยๆ เกิดบ่อยๆ ใจก็ตั้งมั่นออกมาเป็น ผู้รู้ ผู้ดู เห็นกาย เห็นใจ ทำงานได้.. แล้วพอเราตั้งมั่นบ่อยๆ เราจะเห็นกายใจ ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันก็เป็นการเดินปัญญา เห็นครั้งนึง ก็เดินปัญญาครั้งนึง เห็นกายใจ ไปเรื่อยๆ เห็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ ก็สะสม" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่4 16-21 มิถุนายน 2565 |
Tue, 6 December 2022
|
Mon, 23 May 2022
"การทำกรรมฐานไม่ได้ง่าย ไม่ได้ใช้เวลาน้อย จริงๆ ต้องทำไปเรื่อยๆ ค่อยๆ สังเกตไป คนยุคนี้เป็นคนใจร้อน รออะไรไม่ได้ อยากอะไรก็อยากให้มันเสร็จเร็วๆ ซึ่งมันใช้ไม่ได้กับการทำกรรมฐาน การทำกรรมฐานเป็นของละเอียดปราณีต ต้องค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ ดู ค่อยๆ คลำทางไป เดินไปอย่างมั่นคง ไปอย่างช้าๆ ทีละนิด อย่าไปรีบ" --พระอาจารย์สมชาย (อ๊า) กิตฺติญาโณ คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่3 28 กุมภาพันธ์ 2565 |
Sat, 21 May 2022
"วิปัสสนา เราใช้หลักที่ว่า เห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริง อย่างเช่น ถ้าเราพุทโธๆ ใจมันหนีไปคิด เรารู้ทัน ว่าใจมันหนีไปคิด เราไม่ได้ห้ามใจหนีไปคิด แต่การที่เรารู้ทัน ว่าจิตนี้หนีไปคิด พอรู้ทัน เราก็มีสติขึ้นมา พอหลงไปคิดอีก เรารู้ทันอีก การฝึกบ่อยๆ มันจะทำให้เรามีสติได้ไวขึ้น" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่3 27 กุมภาพันธ์ 2565 |
Thu, 19 May 2022
"ทำยังไงเราถึงจะเจริญในธรรม? เราต้องไปฝึก ยีน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีสติไว้ ฝึกไว้เรื่อยๆนะ ต่อไป มันจะเป็น มหาสติ มหาปัญญา คือสติอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ ตัวนี้แหละจะพาเราพ้นทุกข์ได้" --พระอาจารย์สมชาย (อ๊า) กิตฺติญาโณ คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่3 26 กุมภาพันธ์ 2565 |
Tue, 17 May 2022
"กรรมฐานที่เหมาะกับตัวเอง ไม่ว่าทำกรรมฐานอะไร จะต้องมีผิดก่อนอยู่แล้วทุกคน ถ้าผิดแล้วเราหนี เราก็จะไม่สามารถหากรรมฐานที่เหมาะกับเราสักที มันไม่มีใครหรอก ที่ทำกรรมฐานแล้วถูกเลย ก็ผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่เราก็รู้ที่ผิดไปเรื่อยๆ ก็จะผิดน้อยลงๆ ไปเอง" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่3 25 กุมภาพันธ์ 2565 |
Mon, 13 December 2021
"มีอะไร(เกิดขิ้น) ก็รู้อย่างที่มันเป็น รู้เท่าที่รู้ได้ ไม่ต้องรู้เยอะๆ การที่เรารู้เยอะๆ มันรังแต่สร้างปัญหาให้เรา เพราะเรารู้เยอะ เราก็คิดเยอะ พอคิดเยอะ เราก็ฟุ้งซ่าน แล้วเมื่อไรจิตจะสงบ มันก็วนอยู่แบบนี้ ชีวิตทั้งชีวิตปฏิบัติมาสิบปีก็วนอยู่แบบนี้ แทนที่จะรู้ไปตรงๆ พอรู้ตรงๆ เห็นอะไร มันก็ดับไป" --คุณมาลี ปาละวงศ์ 23 พฤษภาคม 2564 |
Fri, 29 October 2021
![]() "หัดดูสภาวะไปก่อน ดูรูปยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด ร่างกายกระดุกกระดิก รู้สึกไป ร่างกายมีความสุข ความทุกข์ จิตใจมีความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ เราหัดดูไป หัดดูสภาวะพวกนี้ไป หรือหัดดูสภาวะที่จิตโกรธ โลภ หลง จิตใจที่ดี ไม่ดี จิตใจที่เป็นกุศล อกุศล พอเราหัดดูไป จิตมันตื่นออกมาได้ ทำแบบนี้สติก็เกิดได้ พอสติเกิดบ่อยๆ ก็เกิดสมาธิได้" --พระอาจารย์สมชาย (อ๊า) กิตฺติญาโณ คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่2 31 สิงหาคม 2564 |
Thu, 28 October 2021
"ตั้งใจภาวนา อดทน ยิ่งภาวนามาหลายๆ ปี บางคนท้อแท้ บางคนก็สงสัย ว่าทำไมภาวนาแล้วไม่ได้ผล อย่างบางคนภาวนาแล้วไม่ได้คาดหวังอะไร ภาวนามายี่สิบปีแล้ว ถึงได้ผลก็มี จริงๆ ก็คือ ถ้าสติเกิดก็มีความสุขแล้ว แค่เรามีสติในชีวิตประจำวันของเราไปเรื่อยๆ ถ้ามันเกิดได้ถูกนะ มันก็มีความสุข กิเลสมันก็น้อย มันก็อยู่กับโลกไปด้วยทุกข์น้อยๆ ค่อยๆ เดินของเราไป เดินไปช้าๆ แต่มั่นคง ดีกว่าไปรีบเดินแล้วผลสุดท้ายผิดทาง" --พระอาจารย์สมชาย (อ๊า) กิตฺติญาโณ คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่2 28 สิงหาคม 2564 |
Wed, 27 October 2021
"ทำกรรมฐานสักอย่างที่เราชอบ แล้วตามคอยรู้ทันความเปลี่ยนแปลงในกาย ในใจของเรา หัดรู้ของเราไปเรี่อยๆ เราจะพ้นทุกข์ไม่ได้เลยจากการฟังธรรม การฟังธรรมเยอะๆ ช่วยให้เราเข้าใจการปฏิบัติ แต่ไม่สามารถทำให้เราพ้นทุกข์ได้ วิธีเดียวที่จะพ้นทุกข์ได้ ก็คือเรียนรู้ความจริง" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่ 2 27 สิงหาคม 2564 |
Wed, 21 July 2021
ถ้าใครเกิดความท้อแท้ก็อย่าเพิ่งล้มไป สู้ใหม่ มันทำอะไรไม่ได้แล้ว มันทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้แล้ว หยุดคิด ตั้งต้นใหม่ ครูบาอาจารย์สอนว่าอะไร ที่จริงท่านสอนให้นับศูนย์กับหนึ่งตลอดเวลา คือไม่มี สอง สาม สี่ ห้า เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ก็ให้จบลงที่รู้ ไม่ว่าทำในรูปแบบหรือในชีวิตประจำวัน รู้ได้เท่าไหร่ก็รู้แค่นั้น ไม่ต่อเติม ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่เสียอกเสียใจ ไม่ยื้อมันเอาไว้ เรายอมรับที่จะรู้แค่นั้น แล้วเราก็จำสภาวะได้ทีละอย่าง สติก็เริ่มเกิดขึ้น ความตั้งมั่นก็เริ่มมี ฝึกอยู่แค่นี้เอง ไม่ทำอะไรมากกว่านี้ -- ทพญ.เพียงดาว ศรีวชิรวัฒน์ 4 พฤษภาคม 2564 |
Fri, 4 June 2021
"ถ้าเราไปทำสมาธิ ส่วนใหญ่ก็จะสุดโต่งไปข้างที่บังคับ ไปเพ่งเอาไว้ จะไม่เกิดตัวรู้ขึ้นมา เวลาทำกรรมฐาน ที่ง่ายที่สุดเราก็ทำไปแล้วคอยสังเกตใจเราไป สังเกตใจเราไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวมันจะค่อยๆ พัฒนาตัวรู้ขึ้นมาเอง ก็คือฝึกสติไปนั่นแหละ ทำกรรมฐานแล้วก็คอยมีสติรู้ทัน รู้ทันกาย รู้ทันใจเราไปเรื่อยๆ ถ้าเรารู้ทันสภาวะทั้งหลายได้ จะเกิดสัมมาสติขึ้นมา ที่นี้พอเกิดสัมมาสติขึ้นมาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็จะได้สัมมาสมาธิขึ้นมา แล้วพอมีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิแล้ว มันจะเดินปัญญาได้ง่าย" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่ 1 (30 เม.ย. - 6 พ.ค.) 5 พฤษภาคม 2564 |
Wed, 2 June 2021
"ณ ทุกวันนี้ ธรรมะของจริงยังมีอยู่ คนที่เดินทางแล้วไปถึงจุดหมาย ก็ยังมีอยู่ คนที่ยังสอนพวกเรา ก็ยังมีอยู่ เราต้องเปิดโอกาสของเราเอง ภาวนาให้ได้เยอะที่สุด ทำให้ได้บ่อยที่สุด แล้วเราจะได้ของดี ของเราเอง" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่ 1 (30 เม.ย. - 6 พ.ค.) 1 พฤษภาคม 2564 |
Mon, 31 May 2021
"เวลาที่เราดูกิเลส เราต้องวัดตัวเอง ถ้าเรารู้ทันกิเลสได้ เราก็รู้ ถ้ารู้ไม่ได้ก็ถอยออกมา เป็นการแก้อาการ แต่เราต้องรู้ว่าอันนี้คือการแก้อาการ ตัวนี้เป็นสมถะ ไม่ใช่การเดินปัญญา ถ้าเราเดินปัญญาได้ เราก็เดิน ถ้าเดินไม่ได้ก็ถอยออกมา อยู่กับอารมณ์อันเดียว หรือถอยออกมาก่อนเพราะรู้ไม่ไหว แต่ว่าเราต้องหัดรู้หัดดูไป ไม่ใช่ถอยทุกครั้ง ถ้าถอยทุกครั้งเราก็จะไม่เจริญเติบโตขึ้น" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สจีนออนไลน์ ครั้งที่ 1 (30 เม.ย. - 6 พ.ค.) 30 เมษายน 2564 |
Mon, 1 February 2021
"ไม่มีว่าทำยังไงให้ถูก เมื่อไหร่ที่เราทำแล้วเรารู้ว่าผิด ตรงนั้นแหละมันค่อยๆ ถูก ถูกในที่นี้คือ มันค่อยๆ เข้าใจมากขึ้น มันฉลาดมากขึ้น มันฉลาดของมันเอง จากการที่มันเห็นสิ่งที่มันแสดงอยู่ในกายในใจเรา แล้วเห็นตรงตามความเป็นจริง" --คุณนิติยา เพ็ชรไพบูลย์ คอร์สก.ล.ต. ธรรมศาสตร์ พัทยา 7 ธันวาคม 2563 |
Sat, 30 January 2021
"ถ้าเราตั้งใจจะภาวนาแนวนี้ (ปัญญานำสมาธิ) เราต้องรักษาศีลให้ดี เพราะว่าเวลาเราภาวนา เราไม่ได้ไปเพ่งสมาธิไว้นิ่งๆ เวลาผัสสะกระทบปุ๊บ กิเลสทำงานขึ้นมา ถ้าสติเราไม่ไว กิเลสครอบงำ เราจะไปล่วงศีลผิดศีลได้ง่ายๆ เราต้องตั้งใจรักษาศีลให้ดีๆ ถ้าเราฝึกสติของเราดี สติของเราไว ศีลจะบริบูรณ์เอง ถ้าศีลเราดี เรื่องทำสมาธิจะง่ายขึ้น" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ สวนธรรมประสานสุข อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ |
Thu, 28 January 2021
"ถ้าเราฝึกสติไว้ดี เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างการกระดุกกระดิก ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง จิตเป็นสุขก็รู้ทัน จิตเป็นทุกข์ก็รู้ทัน จิตเฉยๆ ก็รู้ทัน ฝึกให้มันจำสภาวะพวกนี้ได้ แล้วก็จิตมีโลภ มีโกรธ มีหลง จิตมึความดี ความชั่วอะไร เราฝึกให้สติมันจำได้ พอสติไว พอจิตจะหลงจะไหล มันจะรู้ทัน สัมมาสมาธิจะเกิดง่าย" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ สวนธรรมประสานสุข อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ |
Tue, 26 January 2021
"สมาธิทีใช้ไม่ได้ คือสมาธิที่ประกอบด้วยโมหะ ทำแล้วหลับ ฝัน เคลิ้ม ไม่ควรทำ ส่วนสมาธิส่วนที่ใช้ได้มีสองส่วน ส่วนหนึ่งเอาไว้พักผ่อน อีกส่วนหนึ่งเอาไว้ทำงาน มันแยกกันด้วยจิต ถ้าจิตไปอยู่กับอารมณ์นิ่งสงบ ใช้พักผ่อน แต่ถ้าจิตมันแยกออกมา มีสมาธิไม่ฟุ้งซ่าน จิตแยกออกมาจากขันธ์ ตัวนี้เอาไว้เดินปัญญา" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ สวนธรรมประสานสุข อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ |
Sun, 24 January 2021
"การทำกรรมฐาน มันไม่ยากเลย ฝึกเครื่องมือของเรา ฝึกสติคอยเห็นสภาวะ แล้วก็คอยรู้ทันจิตเรา ถ้าเรารู้บ่อยๆ เราจะรู้เอง ว่าเราทำกรรมฐานอะไรอยู่ ตอนนี้เราอยู่ขั้นตอนไหน" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ สวนธรรมประสานสุข อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ |
Fri, 22 January 2021
"ฝึกสมาธิต้องทำบ่อยๆ ต้องทำทุกวัน สมาธิเป็นเรื่องของการสะสม ถ้าเราทำวันหนึ่งหยุดไป 5 วันอย่างนี้ สมาธิจะไม่ค่อยเกิดหรอก พื้นฐานไม่พอ พูดง่ายๆ ถ้าเราทำสมาธิแล้วจิตเริ่มมีกำลังเริ่มสงบ แล้วเราก็ไปฟุ้งอยู่กับโลกหลายๆวัน พอจะกลับมาทำสมาธิใหม่ก็ฟุ้งๆอยู่อย่างนี้ มันไม่ได้สมาธิ ทั้งสมาธิพักผ่อน ทั้งสัมมาสมาธิ" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ สวนธรรมประสานสุข อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ |
Wed, 20 January 2021
"ตัวที่ต้องฝึกให้ถูกก็คือฝึกสติก่อน ถ้าเราฝึกพื้นฐานตัวนี้ได้ดี จะต่อยอดได้ง่าย แต่ถ้าฝึกสติไม่ดี ต่อยอดยาก สติที่ใช้ภาวนาต้องเป็นสัมมาสติ ไม่ใช่สติสาธารณะทั่วไป ฝึกสัมมาสติตัวแรกที่แนะนำคือหัดดูร่างกาย เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า คนละตัวกับเพ่งลมหายใจออก เพ่งลมหายใจเข้า อีกตัวคือเห็นร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ร่างกายคู้ เหยียด กระดุกกระดิก คอยรู้สึกไป เรียกว่ารู้อิริยาบถ ตัวนี้เรารู้ได้เรื่อยๆ รู้ได้ทั้งวัน อีกตัวหนึ่งคือรู้ทันจิตใจเราไปเลย จิตใจมีความสุข ความทุกข์ จิตใจเฉยๆ ดูได้ทั้งวัน ถ้าจะดูใจมีกิเลส ใจไม่มีกิเลส ใจโลภโกรธหลง ใจดี ใจชั่ว ใจเป็นสุข ใจเป็นทุกข์ คอยสังเกตไป เราคอยสังเกตเอาว่าเราทำตัวไหนแล้ว สติเกิดดี ใช้ตัวนั้น ถ้าเราดูหมวดหรือกลุ่มที่ยกตัวอย่างมานี่ได้ เราจะภาวนาได้ง่ายขึ้น" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ สวนธรรมประสานสุข อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ |
Mon, 18 January 2021
"ฝึกอย่างไรก็ได้ที่ให้มีสติอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับกายกับใจเราตลอดเวลา ตัวนี้ต้องอาศัยฉันทะความพอใจที่จะทำ ปรับ ลด ละ สิ่งที่จะยั่วยุให้เราอยู่กับโลกให้ลดน้อยลง เอาเวลามาอยู่กับตัวเองมากขึ้น เจริญสติให้มากขึ้น ถ้าสติเราเกิดได้ต่อเนื่อง จะเริ่มมีสมาธิขึ้นมา สมาธิที่อยู่กับเนื้อกับตัว แล้วจิตผู้รู้จะค่อยๆชัดขึ้นมาเอง มันชัดขึ้นแบบที่เรารู้ได้เอง เอากรรมฐานที่เราถนัด ถูกจริตของเรา เราทำตัวนั้น ทำบ่อยๆ ทำให้ต่อเนื่อง ฝึกดีๆ จะได้สติได้สัมมาสมาธิขึ้นมา เรื่องเดินปัญญาไม่ใช่เรื่องยากแล้ว" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ สวนธรรมประสานสุข ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ |
Tue, 5 January 2021
"รู้ด้วยความรู้สึก มันรู้ด้วยความรู้สึก มันไม่ใช่รู้ด้วยตา ไม่ต้องเอาจิตเหมือนตาไปดู ใช้ความรู้สึกรับรู้ มันจะเบา ไม่หนัก ไม่เพ่ง แต่เบาใหม่ๆ จะรำคาญ รู้สึกว่ามัน ไม่แล้วใจ แต่จริงๆ แค่นี้ พอ!" --ทันตแพทย์ณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สการเจริญสติและสมาธิในชีวิตประจำวัน ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๓ |
Sun, 3 January 2021
"ภาวนาจนสงบ ก็ไม่ใช่ไปสนใจความสงบ เพราะถ้าไปสนใจความสงบ มันจะเข้าช่องสงบไปหลับ ความสงบมีอยู่ แต่ความรู้สึกก็ต้องมีอยู่ ให้มันอยู่ทั้งสองตัว ต้องให้มีความสงบและความรู้สึก ถ้าทิ้งความรู้สึก ก็จะสลบ ไม่ใช่สงบ" --ทันตแพทย์ณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สการเจริญสติและสมาธิในชีวิตประจำวัน ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๓ |
Sun, 13 December 2020
"ความเคยชินสำคัญมาก คือการสร้างนิสัย(การภาวนา) พอเกิดความเคยชิน ว่างปุ๊บใจก็จะนึกเรื่องนี้(ภาวนา)ก่อน เหมือนเราหยิบโทรศัพท์มือถือ ว่างปุ๊บหยิบปั๊บมาดูทันที อันนี้คือความเคยชิน มันกลายเป็นนิสัย ฉะนั้นเราก็ต้องทำให้เป็นแบบเดียวกัน แต่เปลี่ยนเป็นว่างปุ๊บ หยิบจิตขึ้นมาดู เราต้องหยิบขึ้นมาดูก่อน เรายังไม่ใช่ขั้นปล่อยว่างจิต เราต้องหยิบจิตขึ้นมาดูก่อน แทนหยิบโทรศัพท์ ตื่นลืมตาปุ๊บ ดู(จิต)ก่อน ต้องทำให้ได้อย่างนั้นก่อน ถ้าไม่ได้อย่างนี้จะภาวนายาก เพราะจะขาดความต่อเนื่อง" --ทันตแพทย์ ณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สการเจริญสติและสมาธิในชีวิตประจำวัน ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๓ |
Sun, 14 June 2020
"ก่อนที่จะเริ่มภาวนาก็รู้สึกตัวก่อน ให้อยู่กับความรู้สึก ให้อยู่กับความรู้สึกตัว อย่าเพิ่งทำความสงบซะทีเดียว อยู่กับความรู้สึกตัวให้ชัดเจน ให้รู้สึกตัวชัดเจน สบายๆก่อน แล้วค่อยเริ่มภาวนา ทำสมาธิที่เราทำ แล้วก็สังเกตว่าจิตเราไม่ได้ถูกดัดแปลง" --คุณณพัทธ์พล คุณาธนะเศรษฐ์ คอร์สการเจริญสติในชีวิตประจำวัน กฟผ. ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ |
Fri, 12 June 2020
"ในทุกการกระทำของเรามีกิเลสแฝงอยู่ หัดดูไป มันเป็นประโยชน์ เราจะได้เห็นกิเลสตัวนั้นถูกรู้ เห็นกิเลสตัวนั้นเป็นไตรลักษณ์ เพราะถ้าเราไม่รู้ทัน กิเลสมันย้อมใจเรา มันก็แช่ไปเรื่อยๆ การภาวนาของเราบางทีก็ดูเหมือนไม่พัฒนา ไม่คืบหน้า ที่จริงแล้วมีกิเลสให้ดูตลอดเวลาเลย แต่มันค่อนข้างจะละเอียดขึ้น เวลาภาวนาไปช่วงหนึ่ง กิเลสหยาบๆ จะไม่ค่อยให้เห็นแล้ว จะมีก็เวลากระทบผัสสะแรงๆ เท่านั้น เราต้องหัดดูกิเลสกลางๆ ที่จะทำให้เราแช่อยู่โดยไม่รู้ตัว การทำในรูปแบบยิ่งจำเป็นมากขึ้น เพราะการไปเห็นกิเลสที่ละเอียดขึ้น จิตต้องมีกำลังพอ ถึงจะแยกออกมาได้" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สการเจริญสติในชีวิตประจำวัน กฟผ. ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ |
Wed, 10 June 2020
"ฝึกรู้สึกตัวไป ไม่ต้องถามว่าฝึกไปถึงเมื่อไร เมื่อไรก็เมื่อเข้าใจธรรมะนั่นแหละ ฝึกไปไม่เลิก นี่คือสิ่งที่ทำประโยชน์ให้กับตนเอง เราเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งทีแล้ว มันไม่เป็นกันได้ง่ายๆ สิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือการพัฒนาจิตใจของตัวเราที่เรารักมาก แล้วในที่สุดเราจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เพราะต่อให้เราได้อะไรมากมายอย่างที่เราต้องการ แต่ลึกๆ แล้วก็มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ได้อะไรมาก็อยากได้อย่างอื่นอีก มันไม่มีวันสิ้นสุด" --คุณนิติยา เพ็ชรไพบูลย์ คอร์สการเจริญสติในชีวิตประจำวัน กฟผ. ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ |
Mon, 8 June 2020
"เราลองนึกดูว่าในชีวิตประจำวันเรามีสติจริงๆ กี่ครั้ง มันวัดเลยว่าเราอยู่ใกล้หรืออยู่ไกลมรรคผล เนี่ยตัววัดจริงๆ ไม่ใช่ว่าเราภาวนาแล้วเข้าฌานได้ ตัวที่วัดได้จริงๆ คือเรามีสติได้มากขนาดไหน รู้สึกตัว เห็นกิเลสของตัวเองมากแค่ไหน นั่นแหละเป็นตัววัด เพราะว่าถ้าเราภาวนาแล้วไม่ลงมาที่จิตที่ใจ มันก็ไม่ไปไหน การพัฒนาของจิตเราไม่ได้เกิดจากที่ว่าเราทำอะไรได้มากขึ้น แต่พัฒนาจากกิเลสที่มันบางลง" --คุณณพัทธ์พล คุณาธนะเศรษฐ์ คอร์สการเจริญสติในชีวิตประจำวัน กฟผ. ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ |
Sat, 6 June 2020
"ถ้าอยากภาวนาให้เห็นผลเร็ว ไม่ต้องไปคิดถึงผล คิดอยู่แค่ปัจจุบัน ทำปัจจุบันของเรา ฝึกสัมมาสติ ฝึกให้มีสัมมาสมาธิ เรื่องเดินปัญญาไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องทำอะไรมาก มันก็จะเดินปัญญาไปของมันได้ง่ายๆ พอถึงขั้นนี้แล้ว ขั้นตอนที่เหลือคือทำบ่อยๆให้เกิดบ่อยๆ ส่วนจะบรรลุเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับบารมีที่เราสะสมมาส่วนหนึ่ง กับที่เราทำปัจจุบันส่วนหนึ่ง" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ คอร์สการเจริญสติในชีวิตประจำวัน กฟผ. ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ |
Thu, 4 June 2020
"สมถะกรรมฐาน จิตไม่ดีทำให้ดี จิตไม่สงบทำให้สงบ จิตไม่มีกำลังต้องเอามาพัก พอเราสงบ เราพักพอแล้ว จิตจะมีกำลังขึ้นมา มีความตั้งมั่น ตรงนี้แหละที่เราเรียกว่า "เตรียมความพร้อมของจิต" เพื่อจะขึ้นวิปัสสานากรรมฐาน มาเรียนรู้กายและใจตามความเป็นจริงอย่างที่เค้าเป็น" --คุณมาลี ปาละวงศ์ ชมรมกัลยาณธรรม ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ |
Tue, 2 June 2020
"อย่าไปตั้งความหวังมาก อยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันขณะให้ดีที่สุด รักษามาตรฐานใน 1 หน่วยของปัจจุบันขณะให้ดีที่สุด มันก็จะดีเอง อย่าไปมองไปข้างหน้า แล้วก็พยายามจะทำให้มันได้ พยายามอยู่ที่ไหน ก็ล้มเหลวอยู่ที่นั่น ทำที่ปัจจุบันขณะให้มันดี ก้าวที่ 1 ให้มันถูกตลอดนะ ก็กลับไปว่าวางจิตอย่างไร แค่สะเทือนให้เห็น เนี่ย 1 ก้าว ก้าวแรกต่อไปอย่างนี้ถูก ก้าวต่อไปก็ก้าวที่ 1 ไม่มีก้าวที่ 2 มีความเพียร รักษาก้าวที่ 1 ไม่มีก้าวที่ 2" --คุณหมอณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ในภาคปฏิบัติ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ |
Sun, 31 May 2020
"จุดประสงค์คือ ให้รู้ชัด จิตตั้งมั่น รู้สึกชัดคือ ตัวรู้เมื่อจิตถึงฐาน ความสงบมีอยู่ แต่ต้องมีพร้อมความรู้สึก ถ้าใจไปสนใจความสงบอย่างเดียวจะเป็นนิ่ง" --คุณหมอณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ในภาคปฏิบัติ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ |
Fri, 29 May 2020
"สมาธิมีคุณค่า จำเป็นนะ ดังนั้นถ้าทำรูปแบบได้ทุกวัน ออกมาใช้ชึวิตในชีวิตประจำวันจะสบายเลย ตามดู เก็บแต้มอย่างเดียว ออกมาก็เก็บแต้มต่อ กลับบ้านไปก็ไม่ฟุ้งซ่าน เพราะมันดูได้เยอะ มันไม่ได้ทั้งวันหรอก แต่มันดูได้เยอะขึ้น และดูง่าย มันเห็นอะไรง่าย สบาย ไม่ต้องใช้ความพยายาม ไม่ต้องคาดเดาว่า เอ๊ะ เมื่อกี้ เห็น ใช่หรือเปล่านะ คำนี้จะไม่ค่อยมี พอดูง่ายมันก็จำง่าย สภาวะอะไรก็จำง่าย ทีนี้จิตเคลื่อนก็เห็น เห็นง่าย ก็จำง่าย สติก็เกิดง่ายขึ้นไปอีก ตอนนี้ความรู้ที่มันลอยๆ รู้ไม่ชัดก็จะชัดขึ้นไปอีก พอสติที่ถึงฐานเล็ก เล็ก เล็ก เล็ก ที่เค้าเป็นขณิกะเริ่มเกิด จะทำให้ตอนเราทำในรูปแบบ จิตจะค่อยๆลงมาสู่ฐาน" --คุณหมอณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ในภาคปฏิบัติ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ |
Wed, 27 May 2020
"ถ้าจิตมีความสุข ให้เห็นว่า จิตที่มีความสุขนั้นเป็นเวทนา จิตที่มีความรู้สึก ในความรู้สึกไม่ได้มีความสุข จิตที่มีความรู้สึกมันแค่รู้อย่างเดียว จิตที่มีความสุขเป็นอีกจิตหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจที่ทำให้จิตมันไหล หลง เข้าไป ความสุขนั้นอาจจะรวมถึง ปีติ ปีติ ก็คือความสุขอย่างหนึ่ง แต่เป็นสภาวะที่มันหยาบและรุนแรงกว่าสภาวะของเวทนาที่เรียกว่าสุข ถ้ายังไม่เห็นปีติหรือสุขก็ยังไม่ต้องรีบ เพราะว่าความสงบหรือสภาวะเรายังไม่พร้อม เราก็เฝ้าดูไป" --คุณหมอณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ในภาคปฏิบัติ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ |
Mon, 25 May 2020
"จริงๆ ไม่ต้องการอะไรเลย ต้องการมี รู้สึก กับสิ่งที่ถูกรู้ เท่านั้นเอง ทุกอย่างเป็นสภาวะหมด จะสงสัย ก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ สงสัย รู้ว่าสงสัย ถูกเลย" --คุณหมอณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ในภาคปฏิบัติ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ |
Sat, 23 May 2020
"บริกรรมอย่าพยายามมุ่งเอาความสงบ บริกรรมแค่แตะๆ เป็นฉากๆ ถ้าบริกรรมจับให้สงบ เวลามันเผลอ มันเผลอแรง มันจะดีดกลับแรง ต้องแตะเบาๆ ให้เป็น Background แล้วพอมันลืม มันจะเห็นเร็ว" --คุณหมอณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ในภาคปฏิบัติ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ |
Thu, 21 May 2020
"ไม่ว่าจะทำวิธีไหนก็ตาม ลักขณูปณิฌานต้องทำให้ได้เสียก่อน แม้จะเติมอะไรที่มากขึ้นตามจริตของแต่ละคน แต่ว่า Basic หรือ Minimum Requirement ต้องทำให้ได้ คือ ทำจิตที่รู้สึกตัวให้ได้ จะทำมากจนถึงจิตมีกำลังมาก จากขณิกสมาธิเป็นอุปจารสมาธิ หรือเป็นฌาณก็แล้วแต่ ถ้าใครสามารถทำได้ แต่อย่างน้อยต้องให้ได้ ขณิกสมาธิ พื้นฐานของขณิกสมาธิ คือ ความรู้สึก รู้ชัด ให้เกิดขึ้นเสียก่อน ถ้าไม่ได้ตัวนี้ จะภาวนาไม่ได้ ถ้าได้ตัวนี้ วิปัสสนูปกิเลส ก็จะไม่เกิด เพราะว่าวิปัสสนูปกิเลสนั้น หลวงพ่อฯเคยบอกไว้ว่า เกิดจากจิตที่ออกไปรู้ข้างนอก ขาดสมาธิ" --คุณหมอณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ในภาคปฏิบัติ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ |
Tue, 19 May 2020
"ถ้าเราภาวนามาช่วงหนึ่งแล้วรู้สึกว่าเราไม่พัฒนา จริงๆ แล้วบางทีเรายังติดกิเลสที่ละเอียด แต่เรามองไม่เห็น ลองไปสำรวจตัวเอง อะไรที่ยังติดยังข้องอยู่ อะไรที่เป็นความเคยชินของเรานี่แหละ จะเป็นตัวที่หลอกเราได้ดีที่สุด เพราะความเคยชินนี่ เราจะไม่รู้ตัว จะทำตามความเคยชินแล้วก็ติดอยู่ตรงนั้น" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สเจริญสติในชีวิตประจำวัน ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ |
Sun, 17 May 2020
"เราเลือกที่จะดูสภาวะที่ถูกใจ พอสภาวะที่ไม่ถูกใจ ที่มันไม่นำความสุขมาให้ ที่มันนำความทุกข์มาให้ เราปฏิเสธ ถ้าเรายอมรับความจริงว่ามันเป็นแค่สภาวธรรม มันแสดงให้เราดู มันไม่เกี่ยวอะไรกับเรา เราจะเห็นสภาวะได้เยอะแยะ จะสนุกแล้วก็ฉลาดมากขึ้น เพราะสภาวะที่ถูกใจ หรือสภาวะที่ไม่ถูกใจ ล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์ทั้งสิ้น มันเกิดแล้วก็ดับ บังคับบัญชาอะไรไม่ได้สักอย่าง" --คุณนิติยา เพ็ชรไพบูลย์ คอร์สเจริญสติในชีวิตประจำวัน (nit630131) |
Wed, 13 May 2020
"ภาวนาต้องอาศัยแรงใจ ต้องอย่าลืมว่าเราทำสงครามกับกิเลส เราทำสงครามระยะยาว เราอาจไม่ได้ทำสงครามชาติเดียวหรอก เราตั้งใจแค่ดูมันเรื่อยๆ ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ แต่จะดู จะภาวนาซะอย่าง ตั้งเป้าไว้อย่างนี้ อย่างน้อยถ้ามันไม่ได้อะไรจริงๆ มันก็ยังเป็นสมบัติที่ติดตัวเรา ทั้งบุญกุศล ทั้งจิตที่คุ้นเคยกับการภาวนา มันเหมือนเป็นโปรแกรมที่อยู่ในจิต ข้ามภพข้ามชาติไป" --คุณณพัทธ์พล คุณาธนะเศรษฐ์ คอร์สเจริญสติในชีวิตประจำวัน ๓๑ มกราคม ๒๕๖๓ |
Mon, 11 May 2020
"สติต้องเกิดเอง ย้ำนะว่าต้องเกิดเอง เป็นสัมมาสติ ถึงจะใช้ได้ ถ้าภาวนา ยังมีการบังคับ มีการจงใจ มีการชักชวนให้ดูอยู่ ยังคิดอยู่ สติตัวจริงไม่เกิด แต่ถามว่า จำเป็นต้องทำไหม จำเป็นต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ สติตัวจริงก็ไม่มีทางเกิด" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ คอร์สเจริญสติในชีวิตประจำวัน ๓๑ มกราคม ๒๕๖๓ |
Sat, 9 May 2020
"ถ้าเรามาเห็นจิตที่หลง คือหลงออกไปหกช่องทาง ออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตอนนั้นคือ มันมีตัวรู้ขึ้นมา มันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู เพราะขณะที่หลงนั้น คือจิตที่ไม่ได้อยู่ที่ฐาน เป็นจิตที่ฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านเป็นศัตรูของสมาธิ เมื่อไหร่ที่รู้ว่าฟุ้งซ่าน ตอนนั้นเกิดสมาธิขึ้นหนึ่งขณะ หนึ่งขณะ ทุกครั้งที่รู้ตรงความเป็นจริง" --คุณนิติยา เพ็ชรไพบูลย์ คอร์สเจริญสติในชีวิตประจำวัน ๓๐ มกราคม ๒๕๖๓ |
Sat, 9 May 2020
"การทำในรูปแบบ ต้องประกอบด้วยสติ การเดินจงกรมเป็นการทำสมถะอย่างหนึ่งเหมือนกัน ต้องประกอบด้วยสติ จิตเป็นยังไง เรารู้ ไม่อย่างนั้น เราก็เหมือนกับที่หลวงพ่อบอก ทำมิจฉาสมาธินั่นแหละ คือ ทำสมาธิโดยที่ไม่มีสติรู้ทันว่า ตอนนี้เป็นยังไง" --คุณณพัทธ์พล คุณาธนะเศรษฐ์ คอร์สเจริญสติในชีวิตประจำวัน ๓๐ มกราคม ๒๕๖๓ |
Thu, 7 May 2020
"สิ่งหนึ่งที่วัดเราได้ สังเกตุได้เลย เราจะรู้เลยว่าช่วงนี้การปฏิบัติเราติดอยู่ตรงไหน ตอนตื่นนอน สมมุติรู้สึกตัวขึ้นมาปุ๊บแว๊บแรก แล้วมันไหลไปคิดหมดเลยให้รู้ว่า ช่วงนี้ให้รู้เลยว่าจิตฉันฟุ้งซ่าน แต่ถ้าแว้บแรกขึ้นมามันนิ่งๆให้รู้ว่าจิตเราติดนิ่งอยู่ เราสังเกตได้เลย ขึ้นมาแล้วว่างๆ จิตเราไปติดว่างอยู่ นี่คือนาทีทองของการที่เรารู้ว่าจิตขณะแรกเราติดอะไรอยู่ แต่ถ้ารู้สึกตัวขึ้นมาเห็นร่างกายชัด ให้รู้เลยว่าช่วงนี้จิตเรามีกำลังที่จะดู จิตเรามีกำลังที่ดูได้อยู่" --คุณมาลี ปาละวงศ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๖ มกราคม ๒๕๖๓ |
Tue, 5 May 2020
"ฝึกไปจนสติตัวจริงเกิด ถ้ามันไม่เกิดต้องพามันดูไปก่อน ดูร่างกายทำงาน ดูจิตใจทำงาน ดูความโลภ ความโกรธ ความหลง ดูไปเรื่อยๆ ดูไปบ่อยๆ ต่อไปพอสภาวะมันเกิด สติจะเกิดขึ้นเองอัตโนมัติ" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ คอร์สกลุ่มธรรมทาน ๑๗ มกราคม ๒๕๖๓ |
Sun, 3 May 2020
"เห็นเท่าที่เห็นได้ แต่ละคนเห็นสภาวะไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าต้องเห็นทั้งเกิด ทั้งดับ สภาวะอะไรเกิดขึ้นในกายในใจเรา เรารู้ก็พอแล้ว รู้ทันเท่าที่รู้ได้ สะสมกำลังไป สะสมความรู้ความเข้าใจให้จิตไปเรื่อยๆ เรารู้สึกถึงความรู้สึกในใจเราที่เปลี่ยนไป รู้สึกถึงกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ เห็นใจที่มีภาระ เราดูในอีกมุมหนึ่งก็ได้ เราดูในมุมที่เราดูได้ เรารู้การเปลี่ยนแปลงในมุมที่เราไปเห็นเข้า เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในใจเรา อันนั้นก็ใช้ได้แล้ว ไม่ต้องเห็นเกิดๆ ดับๆ เหมือนกันทุกคน แต่ละคนเห็นไม่เหมือนกัน" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สกลุ่มธรรมทาน ๑๖ มกราคม ๒๕๖๓ |
Fri, 1 May 2020
"พวกที่กิเลสแรง แนะนำให้ไปดูกิเลสตัวเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ หัดดูของเราไป เราหัดดูกิเลสเล็กๆ ได้ จิตจะมีกำลัง เวลามันแรงขึ้น มันจะไม่แรงเท่าเดิม ไม่ทันแรง เราก็รู้ทันได้ไวขึ้น สมมติว่ามีราคะแรงๆ ก็หัดดูราคะตัวเล็กๆ ใครที่มีโทสะแรงๆ หัดดูโทสะตัวเล็กๆ ของเรา ที่มีอยู่ประจำต่อเนื่อง เรื่อยๆ หัดดูไป ต่อไปใจเราก็จะรู้ทันได้ไวขึ้น" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สเรียนรู้ตัวเองขั้นพื้นฐาน ๑๑ มกราคม ๒๕๖๓ |
Wed, 29 April 2020
"บางคนจะให้ไปดูจิตที่ไหล ดูยาก นานๆ จะเห็นที พอเราเจตนาไปดูก็เป็นบังคับ มันดูไม่ได้ตลอดเวลา ไม่เห็นจิตไหลไม่เป็นไร แต่พอไหลแล้ว ใจเป็นอย่างไร เราคอยรู้ทัน ยังใช้ได้ สมมุติว่าใจไหลไปแล้ว ใจคิดเรื่องดี เรื่องไม่ดี ใจยินดีหรือยินร้าย หรือใจไม่เป็นกลาง รู้ทันตรงนั้นก็ยังได้ หรือว่าไหลไปแล้ว ใจมีกิเลส มีโลภ มีโกรธ มีหลงอะไร เราคอยรู้ทัน อย่างนี้ก็ยังใช้ได้ ไม่ต้องดูได้ละเอียดลึกซึ้ง สภาวะหยาบหรือละเอียดมีค่าเท่ากัน แต่ให้เรามีสติรู้ทัน นั่นใช้ได้" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ คอร์สเรียนรู้ตัวเองขั้นพื้นฐาน ๑๐ มกราคม ๒๕๖๓ |
Mon, 27 April 2020
"การภาวนาต้องสบายๆ เป็นอย่างที่เคยเป็น เป็นคนร่าเริงก็ร่าเริงได้ แต่ให้รู้สึกตัว แต่คำว่ารู้สึกตัว มีสติ มันคอยบังคับให้เราควบคุมอยู่เรื่อยๆ ไม่ต้องรู้สึกตัวตลอดเวลา มันเป็นไปไม่ได้ รู้เท่าที่รู้ได้ ค่อยๆ ฝึกไป ถ้ารู้สึกตลอดเวลาให้รู้เลยว่าเพ่งแล้ว ผิดปกติ ผิดธรรมดา ผิดธรรมชาติ เพราะธรรมชาติเราต้องหลง หลงมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ หลงมาตั้งแต่เล็กจนโต จนป่านนี้ อยู่ๆ จะให้ไม่หลง มันเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าอย่าหลงนาน ให้หลงบ่อยๆ เพราะว่าตอนที่รู้ว่าหลงนั้นคือ รู้สึกตัว" --อ.นิติยา เพ็ชรไพบูลย์ คอร์สเรียนรู้ตัวเองขั้นพื้นฐาน ๙ มกราคม ๒๕๖๓ |
Sat, 25 April 2020
"สิ่งต่างๆ เวลาที่เราภาวนาไป ทุกครั้งที่เราภาวนาแล้วมันไม่ใช่หรือมันผิด อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเดินผ่าน ถ้าทำอย่างนี้มันก็ผิด ทำอย่างนี้มันก็ผิด วันหนึ่งมันถึงรู้ว่าที่ผิดมาเพราะอะไร แล้วมันจะถูกเอง อย่าคิดว่า อันนี้ก็ผิดอีกแล้ว อันนี้ก็ผิดอีกแล้ว เพราะข้อเท็จจริงการภาวนา สิ่งที่ถูกทำขึ้นมาไม่ได้ เรามีแต่เรียนรู้เหตุ ทำอย่างนี้เผลอไป ทำอย่างนี้ฟุ้งไป อย่างนี้เพ่งไป มันจะมีอย่างนี้สองสภาวะ สามสภาวะ แต่ทั้งหมดที่เราจะเรียนรู้ เราไม่ได้เอาตัวที่ไม่ฟุ้ง เราไม่ได้เอาสงบ เราต้องเอาไม่เพ่ง ไม่ใช่ สิ่งที่เราจะเรียนรู้ทั้งหมดว่า ไม่ว่าสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ นี่คือเส้นทางที่พระโสดาบันเห็น" --คุณมาลี ปาละวงค์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๒ |
Thu, 23 April 2020
"ผู้เรียน : กราบพระให้ดูร่างกายเคลื่อนไหวใช่ไหมครับ คุณหมอณัฐ : ใช่ แต่ว่าให้ย้อนดูใจด้วยว่า ตรงที่กราบเนี่ยมีการสำรวมหรือรวบใจไว้ รู้กาย แล้วก็รู้ใจด้วย ถ้าไม่เห็นการรวบ ก็จะติดรวบ ถ้าเห็นสิ่งใด ก็ไม่ติดสิ่งนั้น" --ทันตแพทย์ณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สจีนครั้งที่๑๒ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๒ |
Tue, 21 April 2020
"การดูลมหายใจ หรือ ทำกรรมฐานอะไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องการคือ ความรู้สึก ความรู้สึก เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ความรู้สึก จะนำไปหาความรู้สึกตัว ความรู้สึก กับความสงบ เป็นคนละตัว ในความสงบอาจจะไม่มีความรู้สึก แต่ในความรู้สึก มีความสงบหล่อเลี้ยงอยู่ ความสงบที่มีความรู้สึก จะนำเข้าหาสิ่งที่เรียกว่า สมาธิ ในความรู้สึกพร้อมความสงบ ที่เรียกว่าสมาธิ เพราะมีความ รู้ ตื่น เบิกบานอยู่ มีภาวะ รู้ ตื่นตัว จิตไม่ขี้เกียจ พร้อมทำงาน อ่อนโยน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ไม่ใช่การ ควบคุม บังคับ" --ทันตแพทย์ณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สจีนครั้งที่๑๒ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๒ |
Sun, 19 April 2020
"ผลที่เรานั่งสมาธิ เราลองไปสังเกต ใจตัวเอง ถ้านั่งแล้วใจมันซึม มันเคลิ้ม แสดงว่าสติอ่อนไป หรือว่า นั่งแล้วมันเคร่งเครียด ก็แสดงว่าเพ่งมากไป ถ้าเพ่งมากไป ก็โยนกรรมฐานเก่าทิ้งไป แล้วทำสบายๆ หรือทำไปแล้วมันฟุ้งๆ ก็แสดงว่า พื้นฐานเราใจมันฟุ้งซ่านง่าย ก็แค่รู้ว่าใจมันฟุ้ง แล้วเราก็ทำ จะพุทโธ หรือ หายใจไป เราก็ทำไปเหมือนเดิม แค่รู้ทันใจเรา" --พระอาจารย์สมชาย คอร์สจีน#๑๒ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๒ |
Fri, 17 April 2020
"เราหัดรู้ทันไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะเห็นไตรลักษณ์ของความปรุงแต่งทุกตัว เป้าหมายหลักของเราก็คือ เห็นความปรุงแต่ง เห็นขันธ์ ๕ แต่ละตัวเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เห็นมันเป็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ คือเห็นทุกตัว มาแล้วไปๆ" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สจีน#๑๒ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๒ |
Wed, 15 April 2020
![]() "ถ้าเราภาวนาแล้วไม่เอาการปฏิบัติมาหลอมรวมกันในชีวิตจริงๆ โอกาสที่จะเข้าใจธรรมะยากมาก ถ้าภาวนาทั้งวันแล้วกลายเป็นว่าเราทำสมาธิทั้งวัน นั่งก็นั่งเพ่ง เดินก็เดินเพ่ง แล้วทำอยู่นานๆ เข้า ผลสุดท้ายกลายเป็นเพ่งจนชำนาญ แต่เวลาใช้ชีวิตจริงๆ มีสภาวะให้ดูทั้งวัน กระทบผัสสะเยอะมาก แล้วร่างกายเป็นอย่างไร จิตใจเป็นอย่างไรแล้ว มันจะเห็นง่ายกว่า มาฝึกสติในชีวิตจริงๆ ให้ได้ จะพัฒนาได้เร็ว" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ คอร์สจีน ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๒ |
Mon, 13 April 2020
"คนส่วนใหญ่เริ่มปฏิบัติแล้วพลาด เพราะจะไปดูจิตโดยตรง มันไม่เห็นเพราะเรายังไม่ได้ซ้อมการมีสติที่ถูกต้อง จะไปดูจิตโดยตรงมันจะไม่เห็น สิ่งที่เห็นคือคิดเอา ดูไม่ถึงจิต แต่ถ้าเราฝึกสติเรื่อยๆ จิตจะไปเริ่มรู้สภาวะเองโดยที่เราไม่ได้สั่ง จิตทำเอง จิตเรียนรู้สภาวะเอง ตามรู้จิตเปลี่ยนแปลงเอง แต่จะทำถึงขั้นนี้ได้ต้องมีกำลังเพียงพอ เราต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ มีงานเยอะหรืองานน้อยก็ทำ เราไม่ทิ้งการปฏิบัติ แล้วผลของธรรมะก็ไม่ทิ้งเราไปเหมือนกัน" --คุณณพัทธ์พล คุณาธนะเศรษฐ์ คอร์ส ก.ล.ต. ๖ ธันวาคม ๒๕๖๒ |
Sat, 11 April 2020
"พาใจมาเห็นความจริง เห็นกายทำงาน เห็นใจทำงาน รู้สึกด้วยใจไปเรื่อยๆ เห็นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เห็นความไม่เที่ยง ความทนอยู่คงที่ไม่ได้ การที่เห็นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ มันจะเริ่มพบเลยว่า ในกายใจของเรานี้ มันหาอะไรที่เที่ยงแท้ถาวรไม่ได้ เอาเป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ จิตนี้จะค่อยๆ คลายความยึดถือลง คลายความผูกพันลง ถ้าเราคลายความยึดถือลง คลายความผูกพันลงได้เมื่อไหร่ ทั้งหมด ถึงวันหนึ่ง เราก็จะพ้นทุกข์ได้" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์ส ก.ล.ต. ๖ ธันวาคม ๒๕๖๒ |
Thu, 9 April 2020
"ยิ่งเห็นสภาวะได้มาก นั่นคือ เรามีสมาธิมาก ที่หลวงพ่อบอก เป็นฆราวาสที่มีคุณภาพ มีจิตตั้งมั่นมากๆ ต่อไปก็จะเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจเราได้มากๆ เห็นตัวหลงเกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่ต้องไปห่วงเรื่องปัญญา มันตามมา เพราะเกิดตัวรู้ตัวนี้ เกิดตัวรู้ จิตตั้งมั่นขึ้นมา จะเห็นสิ่งที่ถูกเห็น เป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู สิ่งที่ถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา" --คุณณพัทธ์พล คุณาธนะเศรษฐ์ คอร์ส ก.ล.ต. ๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ |
Tue, 7 April 2020
"สิ่งที่เรียนรู้ในเส้นทางของการปฏิบัติ คือ ศึกษาเรื่องศีล ศึกษาเรื่องจิต ศึกษาเรื่องปัญญา ศีล คือ พื้นฐาน เปรียบเหมือนแผ่นดิน ถ้าฐานไม่หนักแน่น สร้างสิ่งใดบนแผ่นดินนั้นก็ล้ม ศีล คือ การมีเจตนางดเว้นที่จะไม่ทำกรรมชั่วหยาบ... รู้ทันจิต คืออะไร ขณะที่นั่งอยู่ รู้สึกถึงการมีอยู่ของร่างกาย รู้สึกว่าร่างกายนี้นั่งอยู่ มันมีตัวนึงรู้สึก นั่นแหละคือจิต... จิตที่ตั้งมั่นต้องประกอบด้วยจิตที่โปร่ง โล่ง เบา ปราดเปรียว คล่องแคล่วว่องไว ซื่อตรงต่อการรู้อารมณ์ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง จิตแบบที่เรียกว่าสัมมาสมาธิ ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเจริญปัญญา เพราะขณะที่ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ดู เป็นจิตที่เป็นสัมมา เห็นทุกสภาวะที่มันผ่านมาผ่านไป คงอยู่ไม่ได้ ไม่เที่ยง ต้องสลาย ต้องเสื่อมไป มันเป็นของมันเอง บังคับบัญชาไม่ได้ นี่แหละเจริญปัญญา" --คุณนิติยา เพ็ชรไพบูลย์ คอร์ส ก.ล.ต. ๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ |
Sun, 5 April 2020
"เวลาที่เราภาวนาดีๆ เรามักจะพยายามรักษาให้มันดีต่อไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่าจิตที่ภาวนาดีแล้วจะหลุดพ้น ต้องเรียนรู้นานเลย กว่าจิตจะยอมว่ามันไม่ถูก อย่างเราภาวนาดีแล้ว เราไปอยู่กับโลกแล้วจิตเสื่อม เราก็ไปโทษว่าการไปทำงาน การออกไปข้างนอกทำให้จิตเสื่อม แต่จริงๆ แล้ว ถึงไม่ไปทำงาน ไม่ออกไปข้างนอก จิตก็เสื่อม เพราะโดยธรรมชาติ จิตเจริญแล้วเสื่อม กว่าจะเรียนรู้ว่าจิตเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่ได้เป็นไปตามเราอยาก เราฝึกกันนาน กว่าจะช่างมันว่าจิตมันจะดีก็ดี จิตมันจะเสื่อมก็เรื่องของมัน ใจถึงจะเป็นกลาง ใจไม่ดิ้นรน" --พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ คอร์ส ก.ล.ต. ๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ |
Tue, 24 March 2020
"ให้จับความรู้สึกไว้ เพื่อจิตมันจับอารมณ์ ยึดอารมณ์น้อยที่สุด ยังเป็นสมถะอยู่ ไม่ถึงขึ้นปัญญา แต่เพื่อพัฒนาให้จิตมันลงฐานและใกล้กลาง สุดท้าย มันทิ้งตรงนี้ มันรู้สึกที่เป็นกลาง มันจะง่ายคือ ภาระที่มันจะเพ่งหรืออะไร มันน้อยที่สุด จิตจับ รู้สึกๆ สักพักหนึ่ง นี่เป็นแค่เหตุ ยังไม่ใช่ผล สุดท้าย ความรู้สึกที่เป็นผล ที่ไม่ได้จงใจ มันจะเกิด มันจะชัดมาที่จิต แล้วกำลังทั้งหลาย มันจะทำให้จิตเป็นตัวรู้ที่ชัดขึ้นมา แล้วพอชัด รูปนามกายใจ มันก็ค่อยๆ แสดงตัวที่ไม่เกี่ยวข้องขึ้นมา แล้วก็พัฒนาไปเรื่อยๆ แล้วปัญญา ก็ค่อยๆ ออกมา" --ทันตแพทย์ณัฏฐ์ ศรีวชิรวัฒน์ คอร์สเนยยะ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๒ |
Mon, 23 March 2020
"ตัวที่เราต้องใส่ใจดูให้เยอะๆ คือ ดูรูป ดูร่างกาย กับดูทางจิตใจ ดูเวทนา ดูความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ แล้วก็ดูสังขาร ความปรุงแต่ง ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว หรือว่า โลภ โกรธ หลง อย่างนี้ หัดดูไปเรื่อยๆ ถ้าเราดูไปเรื่อยๆ พื้นฐานสติเราดี มันจะได้สมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา แล้วมันจะค่อยๆ ล้างความเห็นผิดเอง อย่างเวลา มันมีจิตผู้รู้เกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าย้อนมาดูร่างกาย มันจะเห็นเลย ร่างกายนี้ ไม่ใช่ตัวเรา" --พระอาจารย์ สมชาย กิตฺติญาโณ คอร์สเนยยะ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๒ |
Sun, 22 March 2020
"อย่าไปนึกภาพการภาวนาเป็นเรื่องประหลาด เราไปทำจิตเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เมื่อไหร่เราไปแทรกแซงจิต ทำให้ผิดธรรมชาติ เมื่อนั้นกำลังทำอัตตกิลมถานุโยค หมายความว่า เราไปบังคับมัน แทนที่จะเห็นของจริง" --คุณณพัทธ์พล คุณาธนะเศรษฐ์ คอร์สเรียนรู้ตัวเองขั้นพื้นฐาน บ้านสติ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ |
Sat, 21 March 2020
"การทำรูปแบบ ๑๕นาที ๒๐นาทีแรก ส่วนใหญ่เป็นเวลาของความฟุ้งซ่าน ไม่ต้องคิดจะรีบสงบ แต่เป็นเวลาที่เราตั้งใจจะเรียนรู้มัน เอาความฟุ้งซ่านเป็นครู ดูความฟุ้งซ่านไป มันจะทนสติปัญญาได้แค่ไหน ฟุ้งซ่านก็เป็นไตรลักษณ์" --คุณนิติยา เพ็ชรไพบูลย์ คอร์สเรียนรู้ตัวเองขั้นพื้นฐาน บ้านสติ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ |
Fri, 20 March 2020
"เป้าหมายหลักของศาสนาพุทธ คือเพื่อความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง การที่ไม่พ้นทุกข์ เกิดจากการที่ไม่รู้ความจริงของกายใจ ทำให้ยังคงให้ยึดถือในกายในใจ ตราบใดที่ยังยึดถืออยู่ ตราบนั้นก็ยังไม่พ้นทุกข์ เป้าหลักคือทำอย่างไร ให้เข้าใจความจริงของกายใจอย่างถ่องแท้ นี่คือเป้าหมายหลักของวิปัสสนากรรมฐาน" --คุณแม่ชีอรนุช สันตยากร คอร์สเรียนรู้ตัวเองขั้นพื้นฐาน บ้านสติ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ |